วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมา " เพลงพวงมาลัย "



เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงร้องพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่เคยนิยมเล่นกันในบริเวณภาคกลางโดยใช้เป็นเพลงปรับในการเล่นกีฬาพื้นบ้านหลายชนิด และ บางถิ่นใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาว ปัจจุบันปรากฏว่าในบางถิ่นยังมีการเล่นเพลงชนิดนี้อยู่


เพลงพวงมาลัย มีกำเนิดมาอย่างไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมีพัฒนาการมาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย ซึ่งนิยมพูดให้คล้องจองกัน เช่น โกหกพกลม กระจองงอแง ล้มหายตายจาก เป็นต้น การพูดเป็นวลีคล้องจองเช่นนี้มีหลักฐานปรากฏในเอกสารเก่า ๆ และในหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ถือเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของภาษาไทย-ลาว ที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์และถือเป็นการสร้างคำชนิดหนึ่งของภาษาไทย ในปัจจุบันวลีคล้องจองเหล่านี้มีกฎเกณฑ์ในการใช้จำนวนคำของมันอย่างแน่นอนระดับหนึ่ง


เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงร้องพื้นบ้านที่ยังคงมีร้องเล่นปรากฏในยุคปัจจุบันที่ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีการสืบทอดหลายชั่วอายุคน เกี่ยวกับความเป็นมาของเพลงพวงมาลัยนั้น เกิดขึ้นมานานนับเป็นเวลา ๑๐๐ ปี และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้คิดวิธีการขับร้อง ทั้งนี้มีการขับร้องที่สืบเนื่องกันเป็นเวลานานมาก มีการแพร่กระจายไปในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชน คือ ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งบรรดาหนุ่ม – สาว ผู้ใหญ่ เด็ก ต่างมาร่วมสนุก มีการละเล่นของท้องถิ่น เช่น ไม้หึ่ง ชักคะเย่อ ลูกช่วง เป็นต้น นอกจากจะมีการละเล่นเกิดขึ้นแล้วยังมีการร้องเล่นเพลงพวงมาลัยด้วย จนบางครั้งมีสำนวนพูดติดปากว่า เล่นลูกช่วงพวงมาลัย คือใช้การขับร้องเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงปรับ เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับลูกช่วงไม่ได้ เพลงพวงมาลัยที่เป็นเพลงปรับนี้จะมีลักษณะคำร้องแบบสั้น ๆ ใจความกระทัดรัด ไม่ยาวจนเกินไป ร้องโต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน นอกจากประเพณีวันตรุษสงกรานต์แล้ว เพลงพวงมาลัยยังนิยมขับร้องกันในนาข้าวไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มหว่านไถ จนถึงการเก็บเกี่ยว นิยมขับร้องเพลงพวงมาลัยกันเพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน แม้ในยุคปัจจุบันชาวชุมชนจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง ยังคงมีการขับร้องเพลงที่มีลักษณะการขับร้องคล้ายกับเพลงพวงมาลัยในพิธีงานศพ คือเพลงชมพุ่มดอกไม้ และมีอยู่แห่งเดียวที่ยังคงอนุรักษ์การร้องเพลงแนวนี้อยู่ ดังนั้น จึงนับได้ว่าเพลงพวงมาลัยของชุมชนตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังดำรงอยู่ได้เพราะมีพ่อเพลง แม่เพลงที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบันยังได้มีการถ่ายทอดผู้สนใจในงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย


เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงร้องพื้นบ้านที่จัดอยู่ในประเภทเพลงปฏิพากย์ ที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร้องโต้ตอบปะทะคารมกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงพวงมาลัยจะใช้ถ้อยคำภาษาสุภาพกว่าเพลงปฏิพากษ์ชนิดอื่น ทั้งนี้ก็เพราะว่าลักษณะของการเล่นเพลงที่มิใช่การเล่นเป็นคณะ เป็นอาชีพ ผู้เล่นไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยการผูกเป็นเรื่องใหม่ ๆ มาเล่นเหมือนเพลงอาชีพ ที่ต้องผูกเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้ชม แต่การเล่นเพลงพวงมาลัยเป็นการเล่นในรูปแบบของการพบกันโดยที่ผู้เล่นไม่รู้จักกันมาก่อน เนื่องจากเป็นการเล่นด้วยความสมัครใจ หรือเป็นการจ้างวานให้มาเล่นในงาน ผู้เล่นจึงมีความแปลกหน้าต่อกันการใช้ถ้อยคำจึงต้องสำรวมให้เกียรติแก่กัน ไม่กล่าวล่วงเกินซึ่งกันและกัน จะใช้ภาษาสุภาพน่าฟัง บทประจะมีไม่มาก คำสองง่ามก็พอมีบ้างพอให้สนุก เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะเป็นความรู้เกี่ยวกับคดีโลกคดีธรรม และเรื่องทั่วไปที่อยู่ในความสนใจของชาวบ้านในยุคสมัยที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ และยึดมั่นในศาสนา จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด


2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

บทนำเพลงพวงมาลัยเรียกว่าอะไรคับ

Unknown กล่าวว่า...

เพราะอะไรเราต้องอนุรักษ์เพลงพวงมาลัย