วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมา " เพลงพวงมาลัย "



เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงร้องพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่เคยนิยมเล่นกันในบริเวณภาคกลางโดยใช้เป็นเพลงปรับในการเล่นกีฬาพื้นบ้านหลายชนิด และ บางถิ่นใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาว ปัจจุบันปรากฏว่าในบางถิ่นยังมีการเล่นเพลงชนิดนี้อยู่


เพลงพวงมาลัย มีกำเนิดมาอย่างไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมีพัฒนาการมาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย ซึ่งนิยมพูดให้คล้องจองกัน เช่น โกหกพกลม กระจองงอแง ล้มหายตายจาก เป็นต้น การพูดเป็นวลีคล้องจองเช่นนี้มีหลักฐานปรากฏในเอกสารเก่า ๆ และในหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ถือเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของภาษาไทย-ลาว ที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์และถือเป็นการสร้างคำชนิดหนึ่งของภาษาไทย ในปัจจุบันวลีคล้องจองเหล่านี้มีกฎเกณฑ์ในการใช้จำนวนคำของมันอย่างแน่นอนระดับหนึ่ง


เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงร้องพื้นบ้านที่ยังคงมีร้องเล่นปรากฏในยุคปัจจุบันที่ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีการสืบทอดหลายชั่วอายุคน เกี่ยวกับความเป็นมาของเพลงพวงมาลัยนั้น เกิดขึ้นมานานนับเป็นเวลา ๑๐๐ ปี และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้คิดวิธีการขับร้อง ทั้งนี้มีการขับร้องที่สืบเนื่องกันเป็นเวลานานมาก มีการแพร่กระจายไปในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชน คือ ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งบรรดาหนุ่ม – สาว ผู้ใหญ่ เด็ก ต่างมาร่วมสนุก มีการละเล่นของท้องถิ่น เช่น ไม้หึ่ง ชักคะเย่อ ลูกช่วง เป็นต้น นอกจากจะมีการละเล่นเกิดขึ้นแล้วยังมีการร้องเล่นเพลงพวงมาลัยด้วย จนบางครั้งมีสำนวนพูดติดปากว่า เล่นลูกช่วงพวงมาลัย คือใช้การขับร้องเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงปรับ เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับลูกช่วงไม่ได้ เพลงพวงมาลัยที่เป็นเพลงปรับนี้จะมีลักษณะคำร้องแบบสั้น ๆ ใจความกระทัดรัด ไม่ยาวจนเกินไป ร้องโต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน นอกจากประเพณีวันตรุษสงกรานต์แล้ว เพลงพวงมาลัยยังนิยมขับร้องกันในนาข้าวไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มหว่านไถ จนถึงการเก็บเกี่ยว นิยมขับร้องเพลงพวงมาลัยกันเพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน แม้ในยุคปัจจุบันชาวชุมชนจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง ยังคงมีการขับร้องเพลงที่มีลักษณะการขับร้องคล้ายกับเพลงพวงมาลัยในพิธีงานศพ คือเพลงชมพุ่มดอกไม้ และมีอยู่แห่งเดียวที่ยังคงอนุรักษ์การร้องเพลงแนวนี้อยู่ ดังนั้น จึงนับได้ว่าเพลงพวงมาลัยของชุมชนตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังดำรงอยู่ได้เพราะมีพ่อเพลง แม่เพลงที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบันยังได้มีการถ่ายทอดผู้สนใจในงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย


เพลงพวงมาลัย เป็นเพลงร้องพื้นบ้านที่จัดอยู่ในประเภทเพลงปฏิพากย์ ที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร้องโต้ตอบปะทะคารมกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเพลงพวงมาลัยจะใช้ถ้อยคำภาษาสุภาพกว่าเพลงปฏิพากษ์ชนิดอื่น ทั้งนี้ก็เพราะว่าลักษณะของการเล่นเพลงที่มิใช่การเล่นเป็นคณะ เป็นอาชีพ ผู้เล่นไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า โดยการผูกเป็นเรื่องใหม่ ๆ มาเล่นเหมือนเพลงอาชีพ ที่ต้องผูกเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้ชม แต่การเล่นเพลงพวงมาลัยเป็นการเล่นในรูปแบบของการพบกันโดยที่ผู้เล่นไม่รู้จักกันมาก่อน เนื่องจากเป็นการเล่นด้วยความสมัครใจ หรือเป็นการจ้างวานให้มาเล่นในงาน ผู้เล่นจึงมีความแปลกหน้าต่อกันการใช้ถ้อยคำจึงต้องสำรวมให้เกียรติแก่กัน ไม่กล่าวล่วงเกินซึ่งกันและกัน จะใช้ภาษาสุภาพน่าฟัง บทประจะมีไม่มาก คำสองง่ามก็พอมีบ้างพอให้สนุก เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะเป็นความรู้เกี่ยวกับคดีโลกคดีธรรม และเรื่องทั่วไปที่อยู่ในความสนใจของชาวบ้านในยุคสมัยที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ และยึดมั่นในศาสนา จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด


ลักษณะเพลงพวงมาลัย



๑. ประเภทเพลงพวงมาลัย เพลงพวงมาลัยที่พบโดยทั่วไป สามารถจำแนกตามลักษณะคำประพันธ์ได้เป็น ๒ ชนิด คือ เพลงพวงมาลัยสั้นหรือเพลงพวงมาลัยเร็ว และเพลงพวงมาลัยยาวหรือเพลงพวงมาลัยช้า ซึ่งทั้งสองชนิดมีลักษณะดังนี้

๑.๑ เพลงพวงมาลัยสั้นหรือเพลงพวงมาลัยเร็ว เพลงชนิดนี้มีความยาวของเนื้อร้อง ๑ บท อยู่ใน ๓ บาทหรือ ๖ วรรค วรรคละ ๔-๗ คำ เพลงพวงมาลัยชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้เป็นเพลงปรับในการเล่นกีฬาพื้นบ้านในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพลงที่ร้องมักเป็นเพลงที่ร้องจำต่อ ๆ กัน หรือเป็นเพลงร้องด้นเฉพาะหน้าที่มีบทสั้น ๆ กลอนที่ใช้เล่นเหมือนกลอนเพลงพวงมาลัยยาว เพียงแต่คำจะน้อยกว่าและไม่นิยมกลอนชนิดกลอนไล เพราะจะลงท้ายกลอนตามเนื้อเรื่องที่ร้อง ลักษณะของเนื้อร้องที่ร้องเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดมีเนื้อหาเกี่ยวก่ายกันเป็นลักษณะว่าตอบโต้แก้กันบทต่อระหว่างชายหญิง แต่ไม่เล่นเป็นเรื่องต่อเนื่องกันเป็นชุดเหมือนเพลงพวงมาลัยชนิดยาวหรือเพลงพวงมาลัยช้า นิยมร้องเล่นยามหน้าตรุษสงกรานต์

๑.๒ เพลงพวงมาลัยยาวหรือเพลงพวงมาลัยช้า บทหนึ่งมีความยาว ๓ บาท หรือ ๖ วรรคขึ้นไป บทหนึ่ง ๆ จะยาวเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด เท่าที่พบจากข้อมูลบทหนึ่งมีความยาวถึง ๖๐ กว่าบาท บทที่ร้องยาว ๆ นี้จะพบในการร้องด้นเล่าเรื่อง จำนวนคำในแต่ละวรรคไม่แน่นอน ประมาณ ๔-๘ คำขึ้นไป กลอนที่นิยมเล่นเป็นกลอนหัวเดียวชนิดกลอนไล เหมือนเพลงปฏิพากย์ยาวกว่าชนิดอื่นทั่วไป เนื้อร้องมักต่อเนื่องเป็นเรื่องราวเดียวกันหรือเป็นชุดเหมือนเพลงปฏิพากย์ยาวของภาคกลาง กลอนที่พบมักเป็นกลอนด้น ท่วงทำนองและจังหวะจะช้ากว่าเพลงพวงมาลัยสั้นซึ่งขึ้นอยู่ที่คำในวรรค ถ้ามีจำนวนคำน้อยจังหวะจะช้า ถ้ามีคำมากจังหวะจะเร็วและมีการรวบคำ โดยคำนึงถึงเนื้อความและสาระให้จบความในวรรคเป็นสำคัญ

๒. ลักษณะคำประพันธ์ แม้เพลงพวงมาลัยทั้งสองชนิดจะมีความต่างกันอยู่บ้าง ในเรื่องจำนวนคำและความยาวสั้นของบท แต่เพลงพวงมาลัยทั้งสองชนิดนี้จะมีฉันทลักษณ์หรือลักษณะคำประพันธ์ที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเพลงพวงมาลัย คือ มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “เอ้อระเหยลอยมา” ซึ่งคำที่ ๕ อาจเปลี่ยนเป็นคำอื่นได้ เช่น ล่อง ลั่น พราว มา ไป ลิ่ว ล่อน กล้อน ฯลฯ เป็นต้น และลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” กลอนที่พบเป็นกลอนหัวเดียวชนิดกลอนไลเป็นส่วนใหญ่

๓. ท่วงทำนองและจังหวะ ในด้านท่วงทำนองและจังหวะ เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่มีทำนองหลักเพียงทำนองเดียวตั้งแต่เริ่มเล่นจนจบ และเป็นเพลงที่มีทำนองช้าต้องอาศัยการเอื้อนเสียงมากจึงทำให้เพลงไพเราะ ส่วนจังหวะจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเพลง เช่น ถ้าเนื้อหาเป็นการด้นเล่าเรื่องหรือเป็นบทชมธรรมชาติจะมีคำในวรรคมาก เมื่อร้องผู้ร้องก็จะร้องให้จังหวะเร็วขึ้นและใช้การรวบคำอันเป็นหนึ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกสนุกสนานให้เกิดในอารมณ์ของผู้ฟัง อันเกิดจากการสัมผัสและเสียงที่กระทบกันเป็นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ

๔. องค์ประกอบของการเล่นเพลงพวงมาลัย การเล่นเพลงพวงมาลัย ต้องประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ หลายส่วน เพื่อให้การเล่นดำเนินไปได้ด้วยดี อันได้แก่ ผู้เล่น การแต่งกาย โอกาสที่เล่น เวลา สถานที่ อุปกรณ์การเล่น เรื่องที่เล่น และวิธีเล่น
การแต่งกายผู้แสดง

เนื่องจากเพลงพวงมาลัยมิใช่เพลงอาชีพ การเล่นเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งมักมิได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้น การแต่งกายจึงเป็นไปตามสมัยนิยมและเป็นไปตามสถานการณ์หรือโอกาสที่เล่นนั้น ๆ เช่น ถ้าเล่นในทุ่งนาในการเก็บเกี่ยวข้าวก็จะใช้ชุดทำงานเล่น แต่ถ้าเล่นยามเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ผู้เล่นจะแต่งกายตามความนิยมของแต่ละถิ่นแต่ละสมัย มีลักษณะดังนี้

ผู้เล่นฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดเอว เครื่องประดับแล้วแต่ฐานะของผู้เล่น แต่ถ้าเล่นในงานประเพณีทั่วไปจะแต่งกายตามสมัยนิยม

ฝ่ายหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันจะแต่งกายคล้ายคลึงกัน คือ สวมเสื้อคอกระเช้า (ชนิดคอถักลูกไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเสื้อคอฟัก) หรือบางทีใส่เสื้อแขนกระบอก นุ่งโจงกระเบนทับเสื้อแล้วคาดด้วยเข็มขัด เครื่องประดับแล้วแต่ฐานะของผู้เล่น ถ้าเล่นในงานที่หาไปอย่างเป็นพิธีผู้เล่นจะแต่งกายเหมือนกันทุกคน



บทวิเคราะห์ บทร้อง เนื้อหาสาระ

บทไหว้ครูชาย

เอ่อระเหยลอยมา ลอยมาลอยไป (ลูกคู่รับ ๑ ครั้ง)
ยกพานจำนนขึ้นมาบนหน้าผาก ทั้งธูปเทียนพลูหมากมีทั้งดอกไม้
ไหว้บิดามารดาครูอาจารย์ ยึดความหมายมั่นเอาเข้าไว้
ไหว้ครูผู้สอนเมื่อตอนศึกษา ทั้งยกมือวันทาเอาเข้าไว้
ไหว้ครูคนแรกที่จ่ายแจกวาจา คือบิดรมารดาไหว้เสียให้ได้
ทั้งสิบนิ้วยกไหว้ ขอให้พ้นจากภัยพานเอย (ลูกคู่รับ ๒ ครั้ง)

บทไหว้ครูหญิง

เอ่อระเหยลอยมา ลอยมาลอยไป (ลูกคู่รับ ๑ ครั้ง)
ยกพานจำนนไปบนเหนือเศียร ดอกไม้ธูปเทียนจะขอไหว้
ลูกจะไหว้คุณครูที่ลูกนับถือ วันนี้แหละหรือจะขอไหว้
ขอเชิญคุณพ่อสี่ทิศ ให้มานิมิตรักษาไว้
ขอเชิญคุณครูแล้วทาษีที่มีฤทธิ์ ว่าจะให้ผิดลงมาไว้
ลูกจะไหว้ครูก็ที่ลูกนับถือ สิบนิ้วนมมือลูกขอไหว้
ลูกจะเล่นพวงมาลัย แล้วขอให้สมดังใจปองเอย

วิเคราะห์บทไหว้ครู

เนื้อหาของบทไหว้ครูในเพลงพวงมาลัย “ยกพานจำนนขึ้นมาบนหน้าผาก ทั้งธูปเทียนพลูหมากมีทั้งดอกไม้” เป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยที่สอนให้ลูกหลานรู้จักพิธีกรรมในการไหว้ครู การเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียนเพื่อไหว้ครู การไหว้ครูเป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณ เป็นการแสดงความเคารพครูอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้ “ไหว้บิดามารดาครูอาจารย์” การไหว้บิดามารดาซึ่งเปรียบเสมือนครูคนแรก เป็นการสอนให้มีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ทีเลี้ยงเรามาเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาที่สอดแทรกลงไปในเนื้อเพลงพวงมาลัยเป็นการปลูกฝังให้มีคุณธรรมจริยธรรม เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งสอนจะก่อให้เกิดสิริมงคลและความก้าวหน้า ในการไหว้ครูฝ่ายชายจะไหว้ก่อน และเมื่อฝ่ายชายไหว้ครูเสร็จฝ่ายหญิงจะร้องไหว้ครู ซึ่งเนื้อหาของเพลงก็จะกล่าวถึงศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือให้มาช่วยคุ้มครองและเพื่อให้การร้องเพลงพวงมาลัยเป็นไปด้วยดีไม่มีติดขัด


สรุป



เพลงพวงมาลัย มีประโยชน์ในการสร้างความสนุกสนาน ทั้งยังเป็นสื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชน ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม การดำเนินชีวิต ค่านิยมต่าง ๆ ในสังคมหรือความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งส่วนที่เป็นพุทธประวัติและส่วนที่เป็นหลักธรรม สร้างความสามัคคีทำให้มีกิจกรรมร่วมกัน การบันทึกเหตุการณ์ การเล่าประวัติศาสตร์ การวิพากษ์วิจารณ์สังคม การรักษาบรรทัดฐานของสังคม โดยเนื้อเพลงมีสาระที่คอยย้ำเตือนสอนให้คนยึดมั่นในจารีตประเพณี ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาด้านวรรณกรรมพื้นบ้านที่ถ่ายทอดลงไปในเนื้อเพลงพวงมาลัย เพื่อเป็นการสืบทอด

บทบาทและหน้าที่ของเพลงพวงมาลัยที่ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรม

“เพลงพวงมาลัย” เป็นเพลงร้องพื้นบ้านชนิดหนึ่งของภาคกลางที่กลุ่มชนได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน จนมีแบบแผนเฉพาะและใช้เป็นมหรสพอย่างหนึ่งซึ่งเคยได้รับความนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคกลาง ปัจจุบันบางท้องถิ่นก็ยังนิยมเล่นกันอยู่ โดยเฉพาะตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งบทบาทของเพลงพวงมาลัยที่มีต่อชุมชนในท้องถิ่นนี้ มีประเด็นดังต่อไปนี้


บทบาทในด้านให้ความบันเทิง คือ ให้ความสนุกสนานจากเนื้อหา การเกี้ยวพาราสี ปะทะคารมระหว่างชายหญิง จังหวะและลีลาสนุก ท่าทางประกอบทั้งที่เป็นท่ารำและกิริยาอาการอื่น ๆ

เพลงพวงมาลัย เป็นการเล่นที่มีทั้งการร้องและการแสดงควบคู่กันไป ทั้งผู้ชมก็สามารถมีส่วนร่วมได้ด้วย เช่น การปรบมือให้จังหวะ การร้องรับ การเข้าไปร่ายรำ หรือเป็นผู้ร้องเองในบางโอกาส การเล่นที่เป็นอิสระเช่นนี้ จึงทำให้ผู้เล่นและผู้ชมเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินผ่อนคลายอารมณ์เครียดในชีวิตประจำวันได้ด้วย และเนื่องจากเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงร้องโต้ตอบมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสี จึงเป็นการปะทะคารมระหว่างชายหญิง บางครั้งผู้เล่นมิได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า การโต้ตอบจึงต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบตอบโต้กัน ทำให้การเล่นสนุกสนานยิ่งขึ้น เนื้อหาจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเพลงพวงมาลัยที่ก่อให้เกิดความบันเทิง ความบันเทิงที่ได้จากการเล่นเพลงพวงมาลัย

บทบาทในด้านสร้างความสามัคคี คือ สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่คนในสังคม เนื่องจากการรวมหมู่ใช้แรงงาน และเพลงที่ร้องในเทศกาลสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในหมู่บ้าน

การเล่นเพลงพวงมาลัย เป็นการเล่นที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันในการประกอบกิจกรรมตามประเพณี หรือเทศกาลต่าง ๆ ในสังคม เช่น ประเพณีโกนจุก บวชนาค แต่งงาน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การลงแขกเกี่ยวข้าว เทศกาลตรุษสงกรานต์ เพลงพวงมาลัยเป็นส่วนหนึ่งในการรวมกลุ่ม เพราะเป็นมหรสพที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมตามประเพณีได้สนุกสนานรื่นเริง และยังมีส่วนช่วยสร้างความสามัคคีของคนในสังคม โดยการสอดแทรกประเพณีพิธีกรรม ค่านิยม ความเชื่อของกลุ่มในสิ่งเดียวกันไว้ในเนื้อหาของเพลง

บทบาทในด้านให้ความรู้ คือ สอดแทรกความรู้ให้กับสมาชิกในสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมทั้งในทางในการดำเนินชีวิตและค่านิยมต่าง ๆ ในสังคม

ในการเล่นเพลงพวงมาลัย ซึ่งเป็นเพลงร้องโต้ตอบกันขนาดยาว ผู้เล่นจะต้องแข่งขันความรู้ความสามารถกันอย่างยิ่ง ทั้งในทางโลกและทางธรรม ซึ่งช่วยให้ผู้ฟังได้รับความรู้ในด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น ด้านการประกอบอาชีพ

บทบาทด้านควบคุมสังคม เพลงพื้นบ้านเป็นมหรสพที่มีบทบาทเด่นเป็นพิเศษ เพราะว่าผู้ที่เป็นพ่อเพลงแม่เพลง นอกจากจะมีน้ำเสียงดี โวหารดีแล้ว ยังต้องมีความรู้ทั้งในเรื่องประสบการณ์ชีวิตและเรื่องทั่ว ๆ ไป พอที่โน้มน้าวจิตใจผู้คนในสังคมให้คล้อยตาม การโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้มาทางศีลธรรม ด้วยการชี้แนะระเบียบแบบแผน ตลอดจนการกำหนดพฤติกรรมที่เหมาะสมในสังคม โดยการสอดแทรกคำสอนทางศาสนา ค่านิยม และกฎเกณฑ์ในสังคมที่ควรปฏิบัติไว้ในบทเพลง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการควบคุมและรักษาปทัสถานของสังคม

บทบาทด้านแสดงความในใจ คือ ระบายความเก็บกดอันเนื่องมาจากประเพณีและค่านิยมบางประการ และระบายความเก็บกดอันเนื่องมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม

ความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากสังคมบรรพกาล อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ทำให้มนุษย์เอาใจธรรมชาติโดยการกราบไหว้บูชา จึงเกิดลัทธินับถือผีหรือด้านไสยศาสตร์ฝังรากอยู่ในจิตใจ เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาการเผยแพร่พระพุทธศาสนาไม่ปิดกั้นความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่ ความเชื่อพื้นบ้านจึงยังคงอยู่คู่กับความเชื่อทางพุทธศาสนา และอยู่ในรูปธรรมที่ผสมผสานกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพลงพวงมาลัยก็เช่นเดียวกัน เป็นเพลปฏิพากย์หรือเพลงร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิงซึ่งมีโครงเรื่องไปในเชิงสังวาส เป็นเรื่องของการเกี้ยวพาราสี การเล่นเพลงพวงมาลัยจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการระบายความในใจของสมาชิกในสังคมที่ถูกเก็บซ่อนไว้

บทบาทด้านบันทึกเหตุการณ์ คือ บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งระดับหมู่บ้านและสังคมอื่น

เพลงพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ย่อมเป็นการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งระดับหมู่บ้านและสังคมอื่นที่ไกลออกไป เพลงพื้นบ้านนอกจากจะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ยังช่วยบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่ชาวบ้านได้รับรู้หรือเกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การเก็บข้อมูลเพลงพื้นบ้านนอกจากจะทำให้เราทราบถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและสภาพแวดล้อมในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังทำให้ทราบเหตุการณ์อื่นที่นอกเหนือจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน อันจะเป็นประโยชน์ในแง่ประวัติศาสตร์หรือทราบความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

บทบาทด้านฝึกฝนสติปัญญา เพลงพวงมาลัยมีบทบาทในด้านการฝึกฝนสติปัญญาทั้งในผู้เล่นและผู้ฟัง ในการคิดและแสวงหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ เนื่องจากผู้เล่นทั้งพ่อเพลงแม่เพลงต่างก็ไม่ใช่นักเพลงคณะเดียวกัน ต่างคนก็มาจากต่างที่ซึ่งมีประสบการณ์ต่างกัน และการที่มาเล่นโดยไม่มีการเตรียมล่วงหน้า ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เล่น โดยเฉพาะผู้ชายต้องศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ จากการสอบถามพ่อเพลงแม่เพลงกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะแพ้กันในเรื่องสิกขา-บาลี คือเรื่องเกี่ยวกับศาสนานั้นเอง ทั้งที่เป็นเรื่องราวทางพุทธประวัติและหลักธรรมซึ่งเมื่อถูกผู้เล่นฝ่ายหญิงถามถึงเรื่องใดถ้าตอบไม่ได้ก็ถือว่าแพ้ ถ้าแพ้ในเรื่องสิกขา-บาลี และเป็นการเล่นกันอย่างเอาจริงเอาจัง จะถูกฝ่ายหญิงว่าเอาเสียหาย เช่น “บวชก็เสียผ้าเหลือง สึกไปก็เปลืองผ้าไหม เสียแรงกินข้าวก้นบาตร หาความฉลาดสักนิดก็ไม่ได้” บางครั้งถ้าฝ่ายหญิงไม่พอใจในคำตอบอาจจะใช้คำพูดที่รุนแรงมากในลักษณะดูถูกเหยียดหยาม ดังนั้น ฝ่ายชายจึงต้องเป็นคนรอบรู้และแสวงหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ และถ้าแพ้คำถามในเรื่องใดก็จะต้องสืบเสาะหรือค้นคว้าหาคำตอบมาเตรียมร้องแก้ให้ได้เมื่อพบกันครั้งต่อไป แต่จะไม่ถือโกรธกัน เพราะเป็นการเล่นด้วยความสมัครใจและอวดภูมิรู้


ความเชื่อเกี่ยวกับเพลงพวงมาลัย

ในด้านความเชื่อที่ปรากฏในสังคมระดับชาวบ้านที่พบในเพลงพวงมาลัย พบลักษณะความเชื่อหลายประการ ได้แก่ ความเชื่อด้านศาสนา ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเทวดา ความเชื่อเรื่องภูตผี ความเชื่อเรื่องความฝัน ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ความเชื่อเรื่องยากลางบ้าน
ความเชื่อด้านศาสนา
๑. ความเชื่อเรื่องกรรม เป็นความเชื่อที่ว่าใครทำกรรมอะไรไว้กรรมนั้นจะตองสนองผู้นั้นทั้งในชาติที่เกิด และส่งผลติดตามตัวไปในชาติอื่นด้วย ผู้ที่ทำกรรมดีก็จะได้รับความสุข ผู้ที่ทำความชั่วก็จะได้รับความทุกข์
๒. ความเชื่อเรื่องบุญ-บาป เป็นความเชื่อที่ว่าผู้ที่ทำบุญจะช่วยให้มีชีวิตดีขึ้น และบุญสามารถลบล้างบาปที่ติดตัวได้ด้วย ส่วนผู้ที่ทำบาปก็จะได้รับความทุกข์ และเชื่อว่าผู้ที่ทำบุญจะส่งผลต่อไปในชาติอื่นด้วย เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ส่วนคนที่ทำบาปเอาไว้ก็จะตกนรก
๓. ความเชื่อเรื่องวัฏสงสาร เป็นการเชื่อตามหลักศาสนาว่าชีวิตต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ตลอดเวลา
๔. ความเชื่อเรื่องอนิจจัง เป็นความเชื่อเกี่ยวกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของโลกว่าทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสิ่งนั้น ดังนั้นทุกคนควรรีบสร้างความดีเอาไว้

ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง น้ำมนต์ และคาถาอาคม เพื่อช่วยในการคุ้มครองป้องกันเหตุร้าย การใช้คาถาอาคมเพื่อให้สิ่งที่ทำประสบผลสำเร็จ และการใช้น้ำมนต์เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร และเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า เทวดา และภูตผี
ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า เทวดา และภูตผี ที่ปรากฏในเพลงพวงมาลัยเป็นความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้า เทวดา และภูตผีว่าจะช่วยดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือช่วยเหลือให้กระทำการต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงด้วยดี หรือเชื่อว่าจะให้คุณให้โทษแก่ตนได้
ความเชื่อเรื่องความฝัน
ความฝันเป็นความหมายแห่งโชคลาง เช่น ฝันว่าฟันหักจะได้ยินข่าวร้าย ฝันว่าไฟไหม้จะมีเรื่องเดือดร้อน ฝันเห็นงูจะได้พบเนื้อคู่ ฝันว่าได้แก้ว ผู้ที่ฝันจะมีครรภ์และเชื่อว่าเด็กในครรภ์นั้นเป็นเทวดาที่ลงมาจุติ คือ เทวดาที่หมดบุญแล้วลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อสั่งสมบุญใหม่ ผู้ที่ฝันจะมีบุตรที่เป็นคนดี

ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม
เชื่อกันว่าชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับสวรรค์เบื้องบนได้กำหนดไว้ให้ ซึ่งก็คืออำนาจของดวงดาวต่าง ๆ ซึ่งมีคติความเชื่อเรื่องวันเวลาในการประกอบกิจการต่าง ๆ เช่น เดือนที่เป็นมงคลในการแต่งงาน คือ เดือนอ้าย เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า

ความเชื่อเรื่องยากลางบ้าน และสมุนไพรต่าง ๆ
ความเชื่อเรื่องยากลางบ้าน สมุนไพรต่าง ๆ เช่น ยอดฝรั่งกินแก้ทองเดิน ขมิ้นใช้ทาให้ผิวสวย ความเชื่อด้านนี้เกิดจากในสมัยก่อนเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น วิชาการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเช่นในปัจจุบันจึงใช้วิธีรักษาโรคที่ได้ผลตามความเชื่อของกลุ่ม และปัจจุบันบางกลุ่มยังใช้วิธีการรักษาแบบเดิมอยู่

สถานที่ เวที ฉาก

การเล่นเพลงพวงมาลัยเดิมจะเล่นกันตามลานบ้าน ลานวัด ไม่มีการสร้างเวที อาศัยความสว่างจากคบไฟและตะเกียง ส่วนในปัจจุบันการเล่นเพลงพวงมาลัยสามารถแสดงบนเวที หรือลานกว้างตามสถานที่ต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานที่นั้น ๆ

จารีตในการขับร้อง

การเล่นหรือร้องเพลงพวงมาลัยนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์หรือจารีตกำหนดแต่อย่างใด หากแต่จะมีวิธีการปฏิบัติที่สืบเนื่องกันมาอย่างหนึ่งคือ การถูกเนื้อต้องตัวของฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง ซึ่งจากการบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่นเพลงพวงมาลัยมาในอดีต ท่านได้กล่าวว่าในยุคก่อน ๆ เวลาเล่นเพลงจะไม่มีการจับมือถือแขน เพราะเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของหญิงไทย
ส่วนจารีตด้านการเคารพหรือร้องสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เพลงพวงมาลัยถือว่าเป็นเพลงพื้นบ้านเพลงหนึ่งที่แม้จะไม่มีการร้องบทไหว้ครูอย่างชัดเจนเหมือนเพลงอื่น ๆ แต่มีการร้องอ้างอิงถึงสิ่งเหล่านั้น แสดงว่ายังคงแฝงคติความเชื่อในด้านการเคารพสิ่งที่เป็นมงคล เพื่อความเจริญก้าวหน้าของผู้ร้องและผู้เล่นทุกคน

โอกาสในการร้อง

เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาสทุกเวลาที่พบ มักเล่นในงานเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ได้แก่ ตรุษสงกรานต์ งานโกนจุก งานบวชนาค งานแต่งงาน เทศมหาชาติ ทอดกฐิน ทอกผ้าป่า ลงแขกเกี่ยวข้าว และงานศพ (เพลงชมพุ่มดอกไม้)

วิธีการขับร้อง

การร้องเพลงพวงมาลัย มีลักษณะคล้ายกับเพลงพื้นบ้านเมืองอื่น ๆ คือ มีผู้ร้องนำฝ่ายชาย ร้องนำฝ่ายหญิง ที่เราเรียกว่าพ่อเพลง แม่เพลง และผู้ร้องรับตามบท ที่เรียกว่า ลูกคู่
ในการขับร้อง ต้นเสียงที่เป็นพ่อเพลง แม่เพลง จะขึ้นต้นด้วยการขับร้องคำว่า “เอ่อ ระเหย ลอยมา” หรือ “เอ่อ ระเหย ลอยไป” ในบางครั้งอาจขึ้นต้นคำว่า “เอ๊ย” โดยทอดเสียงให้ยาวออกไปจากนั้นลูกคู่ร้องรับทวนบทขึ้นต้น ๑ รอบ ต้นเสียงร้องต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งจบเพลง ในการลงท้ายเพลงลูกคู่จะช่วยกันร้องทวนวรรคสุดท้ายอีก ๒ ครั้ง จากนั้นจึงจบการขับร้องด้วยคำว่า “เอย”
ส่วนในขณะที่ขับร้องนั้น ลูกคู่จะเป็นผู้รำตามทำนองเพลงร้องไปด้วย โดยไม่มีท่ารำที่เป็นแบบแผนตายตัวว่าจะต้องรำเช่นไร ผู้รำสามารถรำได้อย่างอิสระโดยคำนึงถึงความสวยงาม และการรำค่อนข้างจะไม่รวดเร็วจนเกินไป

การไหว้ครู

การไหว้ครูต้องใช้พานกำนน ประกอบด้วย ธูป ๓ ดอก เทียน ๑ เล่ม ดอกไม้ ๓ สี บุหรี่ ๑ ซอง เหล้าขาว ๑ ขวด และเงินค่ายกครู ตามที่พ่อเพลงแม่เพลงกำหนด ถ้าเล่นในงานประเพณีทั่วไปจะร้องยกครูด้วยปากเปล่าในลักษณะบอกเล่าหรือระลึกถึงผู้มีพระคุณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือให้มาช่วยคุ้มครองและขอให้ร้องเพลงได้คล่อง ส่วนใหญ่มักร้องเล่นไปเลย

อุปกรณ์ประกอบการเล่น

ไม่มีอุปกรณ์ใดมาประกอบ เพราะเป็นเพลงร้องที่ใช้การปรบมือ