วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

ลักษณะเพลงพวงมาลัย



๑. ประเภทเพลงพวงมาลัย เพลงพวงมาลัยที่พบโดยทั่วไป สามารถจำแนกตามลักษณะคำประพันธ์ได้เป็น ๒ ชนิด คือ เพลงพวงมาลัยสั้นหรือเพลงพวงมาลัยเร็ว และเพลงพวงมาลัยยาวหรือเพลงพวงมาลัยช้า ซึ่งทั้งสองชนิดมีลักษณะดังนี้

๑.๑ เพลงพวงมาลัยสั้นหรือเพลงพวงมาลัยเร็ว เพลงชนิดนี้มีความยาวของเนื้อร้อง ๑ บท อยู่ใน ๓ บาทหรือ ๖ วรรค วรรคละ ๔-๗ คำ เพลงพวงมาลัยชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้เป็นเพลงปรับในการเล่นกีฬาพื้นบ้านในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ เพลงที่ร้องมักเป็นเพลงที่ร้องจำต่อ ๆ กัน หรือเป็นเพลงร้องด้นเฉพาะหน้าที่มีบทสั้น ๆ กลอนที่ใช้เล่นเหมือนกลอนเพลงพวงมาลัยยาว เพียงแต่คำจะน้อยกว่าและไม่นิยมกลอนชนิดกลอนไล เพราะจะลงท้ายกลอนตามเนื้อเรื่องที่ร้อง ลักษณะของเนื้อร้องที่ร้องเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดมีเนื้อหาเกี่ยวก่ายกันเป็นลักษณะว่าตอบโต้แก้กันบทต่อระหว่างชายหญิง แต่ไม่เล่นเป็นเรื่องต่อเนื่องกันเป็นชุดเหมือนเพลงพวงมาลัยชนิดยาวหรือเพลงพวงมาลัยช้า นิยมร้องเล่นยามหน้าตรุษสงกรานต์

๑.๒ เพลงพวงมาลัยยาวหรือเพลงพวงมาลัยช้า บทหนึ่งมีความยาว ๓ บาท หรือ ๖ วรรคขึ้นไป บทหนึ่ง ๆ จะยาวเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด เท่าที่พบจากข้อมูลบทหนึ่งมีความยาวถึง ๖๐ กว่าบาท บทที่ร้องยาว ๆ นี้จะพบในการร้องด้นเล่าเรื่อง จำนวนคำในแต่ละวรรคไม่แน่นอน ประมาณ ๔-๘ คำขึ้นไป กลอนที่นิยมเล่นเป็นกลอนหัวเดียวชนิดกลอนไล เหมือนเพลงปฏิพากย์ยาวกว่าชนิดอื่นทั่วไป เนื้อร้องมักต่อเนื่องเป็นเรื่องราวเดียวกันหรือเป็นชุดเหมือนเพลงปฏิพากย์ยาวของภาคกลาง กลอนที่พบมักเป็นกลอนด้น ท่วงทำนองและจังหวะจะช้ากว่าเพลงพวงมาลัยสั้นซึ่งขึ้นอยู่ที่คำในวรรค ถ้ามีจำนวนคำน้อยจังหวะจะช้า ถ้ามีคำมากจังหวะจะเร็วและมีการรวบคำ โดยคำนึงถึงเนื้อความและสาระให้จบความในวรรคเป็นสำคัญ

๒. ลักษณะคำประพันธ์ แม้เพลงพวงมาลัยทั้งสองชนิดจะมีความต่างกันอยู่บ้าง ในเรื่องจำนวนคำและความยาวสั้นของบท แต่เพลงพวงมาลัยทั้งสองชนิดนี้จะมีฉันทลักษณ์หรือลักษณะคำประพันธ์ที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเพลงพวงมาลัย คือ มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “เอ้อระเหยลอยมา” ซึ่งคำที่ ๕ อาจเปลี่ยนเป็นคำอื่นได้ เช่น ล่อง ลั่น พราว มา ไป ลิ่ว ล่อน กล้อน ฯลฯ เป็นต้น และลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” กลอนที่พบเป็นกลอนหัวเดียวชนิดกลอนไลเป็นส่วนใหญ่

๓. ท่วงทำนองและจังหวะ ในด้านท่วงทำนองและจังหวะ เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่มีทำนองหลักเพียงทำนองเดียวตั้งแต่เริ่มเล่นจนจบ และเป็นเพลงที่มีทำนองช้าต้องอาศัยการเอื้อนเสียงมากจึงทำให้เพลงไพเราะ ส่วนจังหวะจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเพลง เช่น ถ้าเนื้อหาเป็นการด้นเล่าเรื่องหรือเป็นบทชมธรรมชาติจะมีคำในวรรคมาก เมื่อร้องผู้ร้องก็จะร้องให้จังหวะเร็วขึ้นและใช้การรวบคำอันเป็นหนึ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกสนุกสนานให้เกิดในอารมณ์ของผู้ฟัง อันเกิดจากการสัมผัสและเสียงที่กระทบกันเป็นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ

๔. องค์ประกอบของการเล่นเพลงพวงมาลัย การเล่นเพลงพวงมาลัย ต้องประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ หลายส่วน เพื่อให้การเล่นดำเนินไปได้ด้วยดี อันได้แก่ ผู้เล่น การแต่งกาย โอกาสที่เล่น เวลา สถานที่ อุปกรณ์การเล่น เรื่องที่เล่น และวิธีเล่น
การแต่งกายผู้แสดง

เนื่องจากเพลงพวงมาลัยมิใช่เพลงอาชีพ การเล่นเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งมักมิได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้น การแต่งกายจึงเป็นไปตามสมัยนิยมและเป็นไปตามสถานการณ์หรือโอกาสที่เล่นนั้น ๆ เช่น ถ้าเล่นในทุ่งนาในการเก็บเกี่ยวข้าวก็จะใช้ชุดทำงานเล่น แต่ถ้าเล่นยามเทศกาลหรืองานประเพณีต่าง ๆ ผู้เล่นจะแต่งกายตามความนิยมของแต่ละถิ่นแต่ละสมัย มีลักษณะดังนี้

ผู้เล่นฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดเอว เครื่องประดับแล้วแต่ฐานะของผู้เล่น แต่ถ้าเล่นในงานประเพณีทั่วไปจะแต่งกายตามสมัยนิยม

ฝ่ายหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันจะแต่งกายคล้ายคลึงกัน คือ สวมเสื้อคอกระเช้า (ชนิดคอถักลูกไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเสื้อคอฟัก) หรือบางทีใส่เสื้อแขนกระบอก นุ่งโจงกระเบนทับเสื้อแล้วคาดด้วยเข็มขัด เครื่องประดับแล้วแต่ฐานะของผู้เล่น ถ้าเล่นในงานที่หาไปอย่างเป็นพิธีผู้เล่นจะแต่งกายเหมือนกันทุกคน



1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

asdasdasdsadasdasdasdasdsadasdsadadasdหๆหๆหๆหๆหๆหหหๆหๆหๆหๆหๆหๆห